วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทำไมเด็กไทยถึงอ่อนวิชาคณิตศาตร์6


"อจ.มศว"  แฉข้อสอบปรนัยทำเด็กไทยอ่อน"คณิต-วิทย์"

อาจารย์ มศว ออกโรงชำแหละ เหตุผลสัมฤทธิ์ "คณิต-วิทย์" เด็กไทยตกต่ำ มีปัจจัยทั้งใช้ข้อสอบปรนัยวัดผล ไม่ให้เด็กตกซ้ำชั้น ชี้สสวท.ตั้งเป้า 10 ปีพัฒนาได้ไม่ง่าย ผอ.สทศ.ชี้แบบเรียนคณิตศาสตร์อ่านเข้าใจยาก ด้านเลขาฯ กพฐ. แจงต้องใช้เวลา

จากกรณีที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ออกมาเปิดเผยผลการวิจัยโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ร่วมกับนานาชาติ ปี 2550 หรือ TIMSS - 2007 ซึ่งมี 59 ประเทศ และ 8 รัฐเข้าร่วม ซึ่งปรากฏว่าพบเด็กไทยอ่อนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยผลคะแนนคณิตศาสตร์อยู่อันดับที่ 29 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติที่กำหนดไว้ และวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 21 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลคะแนนเมื่อปี 2542 ทั้ง 2 วิชาลดลง คณิตศาสตร์จาก 467 คะแนน เหลือ 441 คะแนน และวิทยาศาสตร์ จาก 482 คะแนน เหลือ 471 คะแนน นั้น

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กไทยอ่อนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นปัญหาที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด แต่จะให้เห็นผลทันทีคงเป็นไปไม่ได้ จะต้องใช้เวลา โดยการแก้ไขปัญหานั้น สพฐ.ได้ร่วมมือกับ สสวท.จัดโรงเรียนนำร่องกว่า 1,750 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนามาตรฐานการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และถ้าประสบความสำเร็จจะขยายไปโรงเรียนต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษารูปแบบการสอนของเอกชนที่เปิดสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนต่างๆ ด้วย ส่วนผลวิจัยที่พบว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีคะแนนนต่ำสุดนั้น ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีจำนวนมาก

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น ตนเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ทาง สพฐ.ทำอยู่แล้ว อาทิ 1.พัฒนาคุณภาพครู และแก้ปัญหาการบรรจุครูสอนให้ตรงกับวุฒิการศึกษา 2.กำหนดมาตรการดูแลเด็กที่เรียนอ่อนและติดตามผลอย่างใกล้ชิด 3.พัฒนาสื่อการสอนให้ทันสมัยและเหมาะสม เนื่องจากพบว่าการสอนส่วนใหญ่ยังขาดแคลนสื่อการสอนที่ทันสมัย โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และ 4.การให้ผู้สอนสร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุกและน่าสนใจมากขึ้น เป็นต้น  

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอ่อนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาตร์ มาจากหลายปัจจัย เช่น พื้นฐานของผู้เรียนเอง ปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และในปี 2552 สพฐ.ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการเข้มงวดเรื่องมาตรฐานการสอนมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนที่ตั้งเป้าไว้อีก 10 ปีข้างหน้า ผลการประเมินวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยจะสูงกว่านานาชาตินั้น ตนมองว่าเป็นแค่การตั้งเป้าหมาย แต่ต้องเร่งพัฒนาภายในไม่กี่ปีนี้ คงไม่รอถึง 10 ปีแน่นอน  

นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ผอ.สทศ.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะต้องพลิกโฉมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะ สสวท.จะต้องพัฒนาแบบเรียนให้ทันสมัย อ่านเข้าใจ โดยเฉพาะแบบเรียนคณิตศาสตร์ต้องเขียนให้อ่านเข้าใจ เพราะปัจจุบันเป็นนามธรรมมากเกินไป รวมทั้งต้องอบรมและพัฒนาครูด้วยวิธีการใหม่ เช่น อบรมผ่านระบบออนไลน์ แทนการเรียกมาอบรมได้ครั้งละไม่กี่ร้อยคน ซึ่งจะยิ่งทำให้เห็นผลการพัฒนาล่าช้าไปอีก ที่สำคัญจะต้องแก้ปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาในระดับโรงเรียน ไม่ใช่แก้ปัญหาในระดับภาคหรือภาพรวมเท่านั้น ส่วนที่ทาง สสวท.ระบุว่า อีก 10 ปีข้างหน้าเด็กไทยจะมีคะแนนประเมินสูงกว่าเด็กนานาชาตินั้น ตนมองว่าเป็นไปได้ยาก มีทางเดียว สสวท.จะต้องพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แบบก้าวกระโดด ไม่ใช่ค่อยๆ ทำเหมือนในอดีต ซึ่งหากทุกคนตั้งใจทำน่าจะประสบผลสำเร็จได้

นายณรงค์ ปั้นนิ่ม อาจารย์สาขาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และประธานคณะกรรมการผู้ดูแลวิชาคณิตศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวได้หมักหมมอยู่ในระบบการเรียนการสอนในสังคมไทยมานานมากแล้ว เพราะครูไทยใช้ระบบข้อสอบปรนัยมาวัดผลเด็ก และการฝึกเด็กก็ยังใช้ข้อสอบปรนัยอีก ซึ่งเป็นข้อสอบที่ไม่ได้พัฒนาระบบคิด และการใช้เหตุผล ข้อสอบปรนัยเป็นข้อสอบที่ทำลายเด็กไทยอย่างมาก คนที่มาเรียนครูก็ถูกมอมเมาด้วยข้อสอบปรนัย มาเป็นครูก็ใช้ข้อสอบปรนัย เด็กบางคนทำข้อสอบโดยไม่ต้องอ่านคำถาม แต่ใช้วิธีสุ่มเดาก็สามารถสอบผ่านได้

"สังคมการศึกษาไทยเราบริโภคข้อสอบปรนัยมาตั้งแต่ปี 2516 ถึงตอนนี้เป็นเวลาถึง 35 ปี วงจรข้อสอบปรนัยได้ทำลายเด็กไทย โดยที่ครูไทยยังไม่รู้ตัว อีกทั้งครูทุกวันนี้ก็มุ่งสอนเพื่อหวังให้เด็กสอบเรียนต่อได้ มีการสอนวิธีลัด สอนเทคนิค โดยไม่ได้สอนเพื่อให้เด็กเกิดความรู้ เด็กทุกวันนี้จึงชอบไปกวดวิชา แม้แต่สอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้วบางคนก็ยังต้องไปกวดวิชา เพราะมาเจอข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบที่ให้คิดวิเคราะห์แล้วเขียนออกมา เด็กมีปัญหาทำไม่ได้ เข้าสู่การทำงานก็ไร้คุณภาพ ในขณะที่ประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูง ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย จะไม่ใช้ข้อสอบปรนัยกับเด็กของเขา" นายณรงค์กล่าว

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ระบบการเรียนที่ไม่ให้เด็กซ้ำชั้น ก็ทำลายเด็ก เพราะจะไม่มีความตั้งใจในการเรียน บางคนได้เกรดเฉลี่ย 0 มาซ่อมก็สามารถผ่านไปได้ เท่าที่ทราบในเมืองไทยมีโรงเรียนจิตรลดาเพียงโรงเรียนเดียวที่ยังมีการซ้ำชั้น หากผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ แต่โรงเรียนอื่นๆ ไม่มีการซ้ำชั้น แม้ผลการเรียนของเด็กจะไม่ผ่านก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากการเรียนสมัยก่อนมาก ทั้งนี้ หลายคนอาจจะบอกว่าเด็กไทยในปัจจุบันนี้ก็ตั้งใจและเป็นเด็กเก่ง ไปแข่งขันระดับนานาชาติไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก็คว้ารางวัลต่างๆ มามากมาย ซึ่งก็น่าดีใจ น่ายินดี แต่เด็กกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่ชนกลุ่มมากยังมีปัญหาอยู่ในระดับที่แย่มาก น่าเป็นห่วง

"ที่ สสวท.ตั้งเป้าว่ามีแผนพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้เด็กไทยมีคะแนนสูงขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย สสวท.เองต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการคิด การพัฒนาตำราต่างๆ เพราะเท่าที่มีโอกาสพัฒนาครูคณิตศาสตร์มาเป็นปีที่ 9 เพื่อให้ครูมีความรู้ ทักษะ และวิธีการสอนคณิตศาสตร์ ก็ยังพบว่าครูยังติดกับดักการสอนแบบปรนัย ซึ่งไม่อาจจะวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ เมื่อเด็กต้องไปวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่วัดกันด้วยความรู้ ความเข้าใจ เหตุผล เด็กไทยจึงทำไม่ได้ ผลสัมฤทธิ์จึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ" นายณรงค์กล่าว

อ้างอิง : http://www2.eduzones.com/rangsit/14550



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น