วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

องค์การของประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก


องค์การของประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) 
การรวมกลุ่มกันเพื่อแสวงหา และรักษาผลประโยชน์ เป็นของธรรมดาไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล หรือในระดับประเทศ ผู้ผลิตน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ๆ ในกลุ่มของประเทศด้อยพัฒนา มองเห็นความสำคัญของข้อนี้ จึงเริ่มรวมตัวกันตั้งองค์การถาวรขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 และใช้ชื่อว่า Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) โดยมีสมาชิกก่อตั้ง คือ เวเนซุเอลา อิหร่าน อิรัก คูเวต และซาอุดิอาระเบีย และประเทศอื่นเข้าร่วมในเวลาต่อมา ได้แก่ กาตาร์ (2504) อินโดนีเซีย และลิเบีย (2505) สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ (2510) แอลจีเรีย (2512) ไนจีเรีย (2514) เอกวาดอร์ (2516) และกาบอง (2518) เอกวาดอร์ลาออกในปี พ.ศ. 2535 ตามด้วยกาบอง ในปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันองค์การนี้จึงมีสมาชิก 11 ประเทศ 
ประเทศในกลุ่มโอเปคมีบทบาทสำคัญต่อการกินดีอยู่ดีของชาวโลก เพราะมีน้ำมันดิบรวมกันถึง 75% ของน้ำมันดิบที่ค้นพบแล้วในโลก และสูบขึ้นมาเป็นจำนวน 40% ของน้ำมันที่ผลิตทั่วโลก หน้าที่ใหญ่ของโอเปคในการรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก ได้แก่ การประสานนโยบายในการผลิต และการตั้งราคาน้ำมันดิบ และการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และทางเทคนิคแก่กันและกัน ตามปกติสมาชิกจะร่วมประชุมกันปีละสองครั้ง ตอนก่อตั้งใหม่ๆ งานใหญ่ขององค์การนี้ ได้แก่ การต่อรองกับบริษัทผลิตน้ำมันข้ามชาติใหญ่ ๆ ซึ่งมีอยู่ 7 บริษัท คือ Exxon, Mobil, Texacon, ARCO, Standard Oil of Indiana, British Petroleum และ Royal Dutch Shell เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก ต่อมาเมื่อประเทศสมาชิกโอเปคยึดบ่อน้ำมันและยึดสาขาบริษัท ซึ่งผลิตน้ำมันในประเทศของตนมาเป็นของรัฐ องค์การนี้มีบทบาทในการตั้งราคาน้ำมันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 10 ปีกว่าหลังจากก่อตั้งองค์การ น้ำมันดิบในตลาดโลกมีอย่างมากมาย องค์การนี้จึงไม่สามารถขึ้นราคาน้ำมันดิบได้ จนมาในปลายปี พ.ศ. 2516 เมื่อน้ำมันเริ่มขาดตลาด ประเทศเหล่านี้จึงขึ้นราคาน้ำมันดิบ 70% ในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นไม่นาน ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ประกาศ งดขายน้ำมันให้สหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ ตามข้อกล่าวหาว่าสองประเทศนั้นสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฝ่ายอาหรับในปีนั้น ทำให้เกิดภาะน้ำมันขาดตลาดอย่างร้ายแรง สมาชิกขององค์การนี้จึงขึ้นราคาน้ำมันดิบอีก 130% ในเดือนธันวาคม ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับใหม่มาจนถึงปี พ.ศ. 2522 เมื่อการปฏิวัติล้มบัลลังก์พระเจ้าซาห์ของอิหร่าน และในปีต่อมา เมื่ออิรักโจมตีอิหร่าน ก่อให้เกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนครั้งใหญ่อีกหน ผู้ผลิตน้ำมันจึงสามารถขึ้นราคาน้ำมันได้อีกราวสามเท่าตัว
การขึ้นราคาน้ำมันครั้งละมากๆ เช่นนี้ สร้างความร่ำรวยให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างมหาศาล และในขณะเดียวกัน มันก็สร้างความเดือดร้อนไปทั่วทุกระแหงในโลก น้ำมันราคาแพงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างในประเทศที่ต้องซื้อน้ำมันใช้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบแก่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเองในที่สุด ผลกระทบอาจแยกคร่าว ๆ ได้ดังนี้
1. น้ำมันราคาแพง ทำให้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เศรษฐกิจถดถอยทำให้ความต้องการน้ำมันน้อยลง
2. น้ำมันราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคประหยัด ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง
3. น้ำมันราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคพยายามใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นแทน เช่น ถ่านหิน และพลังนิวเคลียร์ ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง
4. น้ำมันราคาแพงในกลุ่มประเทศโอเปค ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อจากแหล่งที่ถูกกว่า เช่น เม็กซิโก และรัสเซีย กระตุ้นให้ประเทศเหล่านั้นเร่งลงทุนผลิตน้ำมันมากขึ้น
5. น้ำมันราคาแพง ทำให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันเร่งหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ทำให้น้ำมันในตลาดโลกมีมากขึ้น
6. น้ำมันราคาแพง ทำให้บ่อน้ำมันบางแห่ง ที่ต้องปิดไปเพราะมีต้นทุนการผลิตสูง กลับมาผลิตน้ำมันอีก เป็นการเพิ่มน้ำมันในตลาดโลก
           ภาวะเช่นนี้ ก่อให้เกิดน้ำมันล้นตลาด สร้างความกดดันให้ผู้ผลิตต้องลดราคา เพื่อแข่งกันขาย ฉะนั้นหลังจากน้ำมันดิบขึ้นราคาไม่นาน เมื่อเกิดการปฏิวัติในอิหร่านและเกิดสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เริ่มตก ในภาวะเช่นนี้ กลุ่มประเทศโอเปคไม่สามารถจะคุมราคาได้ ในทางตรงกันข้ามสมาชิกเริ่มทะเลาะกันเองหลังจากสมาชิกตกลงลดการผลิตของตนเพื่อจะพยุงราคาให้สูงไว้ แต่สมาชิกบางประเทศมีค่าใช้จ่ายมาก จึงลักลอบผลิตน้ำมันเกินพิกัดที่ได้รับจากองค์การ เมื่อหลายประเทศทำเช่นนั้น น้ำมันดิบในตลาดโลกจึงไม่ลดลงเท่าที่โอเปคต้องการ ทำให้ราคาตกลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การผลิตน้ำมันเกินพิกัดของคูเวต เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกอิรักโจมตีในปี พ.ศ. 2533 เพราะอิรักอ้างว่าคูเวตต้องการให้ราคาน้ำมันตก เพื่อเป็นบ่อนทำลายอิรัก ซึ่งต้องการเงินเป็นจำนวนมากเพื่อรื้อฟื้นเศรษฐกิจของตนหลังจากสงคราม 8 ปีกับอิหร่าน ซึ่งยุติลงในปี พ.ศ. 2531 
นอกจากจะหักหลังกันเองแล้ว ความขัดแย้งในกลุ่มประเทศโอเปค ยังเกิดจากความพยายามใช้น้ำมันเป็นอาวุธทางการเมือง ของประเทศผู้ผลิตในกลุ่มอาหรับอีกด้วย การใช้น้ำมันเป็นอาวุธทางการเมืองครั้งสำคัญ ได้แก่ เมื่อผู้ผลิตในกลุ่มอาหรับนำโดยซาอุดิอาระเบียงดขายน้ำมันให้สหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2516-2517 เพื่อจะทำโทษสองประเทศนั้น ที่ช่วยเหลืออิสราเอลในระหว่างสงครามตะวันออกกลาง ในปี พ.ศ. 2516 ฉะนั้นประเทศอาหรับจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยขึ้นมาอีก เรียกว่า องค์การของประเทศอาหรับผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Arab Petroleum Exporting Countries : OAPEC)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น