วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



   สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) 
           สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐ มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration)

วัตถุประสงค์ของอาเซียน 
1) เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง และยึดมั่นในหลักการของสหประชาชาติ
2) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ วิชาการ การฝึกอบรม การวิจัย การบริหาร การกินดีอยู่ดีบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างจริงจัง 

ความร่วมมือของอาเซียน 
1) ความร่วมมือทางการเมือง สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือกันในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amit and Cooperation in Southeast Asia : TAC) และประกาศให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality : ZOPFAN) การก่อตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) และ สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone Treaty : SEANWFZ ) 
2) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาเซียนได้ตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA ) เพื่อที่จะส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยการลดภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าส่งออกของกันและกัน และดึงดูดการลงทุนจากภายนอกภูมิภาค และยังมีมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และความร่วมมือกัน ในด้านอุตสาหกรรม การเงิน การธนาคาร และการบริการระหว่างกัน ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation: AICO) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของอาเซียน (e-ASEAN) เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA) การเปิดเสรีการค้าบริการในอาเซียน (AFAS) กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ผ่านแดน (GIT) เพื่อที่จะลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่าและใหม่ของอาเซียนด้วย
3) ความร่วมมือเฉพาะด้าน อาเซียนให้ความสำคัญต่อความร่วมมือเฉพาะด้าน (Functional Cooperation) ระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่ ความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สารสนเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ การต่อต้านยาเสพติด เช่นการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน การประกาศให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติด ในปี ค.ศ. 2015 แผนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการอาเซียน เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั่วทั้งภูมิภาค เป็นต้น 

วิสัยทัศน์ปี 2020 ของอาเซียน
             รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียนในปี 2020 ในส่วนเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้อาเซียนเป็นเขต  เศรษฐกิจที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขัน ในตลาดโลกในทุกๆ ด้าน โดยมีวิสัยทัศน์ว่า อาเซียนปี 2020 เป็นหุ้นส่วนร่วมกันในการพัฒนาอย่างมีพลวัตร (ASEAN 2020: Partnership in Dynamic Development)”
หลักการใหญ่ของวิสัยทัศน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไป ได้แก่
:: การดำเนินการลดภาษีภายใต้อาฟต้า
:: การจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน
:: การเปิดเสรีการบริการในสาขาต่างๆ
:: การกำหนดให้อาเซียนเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก 
:: การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านต่างๆ เพื่อให้อาเซียนสามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ของโลกได้ เช่น ปรับปรุงด้านการคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงกัน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ ตลอดจนสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันการค้าและการลงทุนกับเอกชนของประเทศในเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น